ด้านการท่องเที่ยว จะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดได้ในกลางปี 68 ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปของดอลลาร์สหรัฐปีนี้ จะเติบโต 2.4% เนื่องจากการค้าโลกที่เอื้ออำนวยแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) จะชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในภูมิภาคที่ 0.7% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทั้งนี้ ธนาคารโลก ยังคาดว่าในปี 68 เศรษฐกิจไทยจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.0% โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนที่ฟื้นตัว
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนก.ค.67 ธนาคารโลกได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.4% ส่วนปี 68 ขยายตัวได้ 2.8%
*ห่วงแจกเงินหมื่น กดดันหนี้สาธารณะ
สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินหมื่นบาทให้แก่กลุ่มเปราะบาง อาจช่วยเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ 0.5-1.0% โครงการดังกล่าวอาจช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในระยะสั้น แต่จะเพิ่มความกดดันต่อหนี้สาธารณะ เนื่องจากมีต้นทุนการคลังสูงถึง 450,000 ล้านบาท (2.4% ของ GDP)
ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับเป้าหมาย (1-3%) ภายในสิ้นปี 2567 ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หนี้สาธารณะล่าสุดในเดือนส.ค.67 อยู่ที่ 63.5% ของ GDP ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการคาดการณ์วัฏจักรการผ่อนคลายนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ธนาคารโลก ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่คาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตเร่งขึ้นเป็น 2.4% ในปีนี้ ซึ่งขับเคลื่อนโดยการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงซบเซา อัตราความยากจนคาดว่าจะลดลงเหลือ 8.2% ในปีนี้ ซึ่งสนับสนุนโดยการเติบโตที่เร่งตัวขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง แม้ว่ามาตรการกระตุ้นการบริโภคอาจช่วยกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น แต่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อยกระดับการเติบโตในระยะยาว
โดยที่ผ่านมา ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2567 เศรษฐกิจขยายตัว 2.3% สูงกว่า 1.6% ในไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส GDP เพิ่มขึ้น 0.8% (ปรับตามฤดูกาล) การเติบโตได้รับการส่งเสริมจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ผลผลิต ภาคการผลิต กลับมาเป็นบวกเล็กน้อยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส
ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐหดตัวอย่างรวดเร็ว มีสินค้าคงคลังลดลงอย่างมาก ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งภายนอกและภายในประเทศ การฟื้นตัวของสินค้าที่ส่งออกจากท่าเรือยังคงล่าช้า
ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ อัตราการว่างงานของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% โดยเศรษฐกิจมีการจ้างงานด้านการผลิตเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่ง และการจ้างงานด้านบริการเพิ่มขึ้น 230,000 ตำแหน่ง แม้ว่าตลาดแรงงานจะแข็งแกร่ง แต่รายได้ครัวเรือนกลับเติบโตเพียง 3% ในช่วงปี 64-66 และแม้ระดับหนี้ครัวเรือนลดลงในปี 66 แต่ยังคงสูงเกือบ 7 เท่าของครัวเรือนโดยเฉลี่ยในปี 64-63 การเติบโตของรายได้ที่ซบเซา ภาวะเงินเฟ้อสูง และความเครียดทางการเงินกดดันการบริโภคของภาคครัวเรือน
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังโควิดอยู่ที่ 2.1% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโรคระบาดที่ 3.4% (2558-2562)
แหล่งที่มา.ผู้จัดการออนไลน์