สงครามการค้ารอบใหม่ สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีน 14 รายการ แนะไทยเร่งปรับตัว.

สนค. เผยสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าจีนจำนวน 14 รายการ รวมมูลค่าทั้งหมด 168.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าสงครามการค้ารอบใหม่จะกระทบเศรษฐกิจการค้าโลกและไทยบ้าง พร้อมแนะแนวทางรับมือและใช้โอกาสจากการเปลี่ยนแปลง

วันที่ 14 มิถุนายน 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าจีน มีจำนวน 14 รายการ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ และกระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยาและส่วนประกอบของแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ EV และรถยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์ EV กราไฟต์ธรรมชาติ แร่ธาตุสำคัญ แม่เหล็กถาวร เครนขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์หน้าท่า เหล็กและอะลูมิเนียม หน้ากาก และถุงมือยางชนิดที่ใช้ทางการแพทย์

โดยในปี 2566 สหรัฐนำเข้าสินค้าในรายการข้างต้นรวมมูลค่าทั้งหมด 168.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากจีนมูลค่า 18.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 11.2% ขณะที่นำเข้าจากไทยมูลค่า 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 4.3% สำหรับสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากไทยที่มีมูลค่าการนำเข้าสูง มี 4 รายการสินค้า ได้แก่ โซลาร์เซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และถุงมือยาง คาดเซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และถุงมือยางไทยได้ประโยชน์

สนค. คาดว่าสงครามการค้ารอบใหม่ จะยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกในภาพรวม อีกทั้งจะต้องติดตามการดำเนินการของจีนที่อาจตอบโต้สหรัฐ อย่างไรก็ดี ไม่น่าจะมีผลกระทบที่รุนแรงนักเมื่อเทียบกับสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในปี 2561 ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและมูลค่าการค้าโลกหดตัวอย่างชัดเจนในปี 62 (GDP ไทย ปี’62 ชะลอตัวเหลือ 2.1% จาก 4.2% ทั้งในปี’60 และปี’61 และการส่งออกไทยปี’62 หดตัว 2.6% จากขยายตัว 9.9% และ 6.9% ในปี’60-61)ไทยได้อานิสงส์
ทั้งนี้ สินค้าที่ไทยอาจได้อานิสงส์ในการส่งออกทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และถุงมือยาง นอกจากนี้ คาดว่าไม่น่าจะมีผลต่อรถยนต์ไฟฟ้าของไทย เพราะกลุ่มลูกค้าของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอยู่ในอาเซียนและโอเชียเนีย

ขณะที่ยังต้องติดตามมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหรือสินค้าที่สหรัฐจับตา อย่างเช่น โซลาร์เซลล์ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐจะเฝ้าระวังการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นและกำลังการผลิตส่วนเกินจากประเทศในอาเซียน

จากสถิติการค้าปี’66 พบว่าสหรัฐเป็นผู้นำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ถุงมือยาง และโซลาร์เซลล์รายใหญ่เบอร์ 1 ของโลก และนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์สูงที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก และเมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าของสหรัฐ พบว่า สหรัฐนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ส่วนใหญ่มาจากประเทศในอาเซียนและเอเชียตะวันออก โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 5 มูลค่าการนำเข้า 2,322 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 5.6% ของมูลค่าการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดของสหรัฐ) หดตัว 29.6%

ไทยแหล่งนำเข้าอันดับ 6
ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 6 มูลค่าการนำเข้า 1,960 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 4.7%) หดตัว 10.0%ซึ่งถือว่าดีกว่าการเติบโตของการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดของสหรัฐที่หดตัว 15.1% นอกจากนี้ การเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าการนำเข้าจากไทยในช่วงปี’60-66 ขยายตัวถึง 13.6% ขณะที่การเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าการนำเข้าจากจีนและมาเลเซีย (แหล่งนำเข้าอันดับ 1) หดตัว 6.0% และ 3.9% ตามลำดับ

แหล่งนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมส่วนใหญ่ของสหรัฐ มาจากประเทศในอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออก สำหรับจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 8 มูลค่าการนำเข้า 1,681 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 3.2%) หดตัว 32.8% ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 17 มูลค่าการนำเข้า 680 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 1.3%) หดตัว 31.3%

อย่างไรก็ดี การเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าการนำเข้าจากไทยในช่วงปี’60-66 ขยายตัวถึง 9.7% ขณะที่การเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าการนำเข้าจากจีนและเวียดนาม (แหล่งนำเข้าอันดับ 14) อยู่ที่ -8.1% และ 2.5% ตามลำดับ

แหล่งนำเข้าถุงมือยางส่วนใหญ่ของสหรัฐมาจากประเทศในอาเซียนและจีน โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย มูลค่าการนำเข้า 398 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 24.9%) หดตัว 22.0% ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 มูลค่าการนำเข้า 360 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 22.5%) หดตัว 22.8 ซึ่งถือว่าดีกว่าการเติบโตของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐ และมาเลเซียที่หดตัวร้อยละ 37.3 และ 46.7 ตามลำดับ สำหรับแหล่งนำเข้าโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ของสหรัฐมาจากประเทศในอาเซียน

โดยการนำเข้าจาก 4 ประเทศอาเซียน (เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และกัมพูชา) คิดเป็นสัดส่วน 75.2% สำหรับจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 17 ซึ่งสัดส่วนการนำเข้าต่ำกว่า 1% ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 มูลค่าการนำเข้า 4,150 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 21.5%) ขยายตัว 158.5% ซึ่งถือว่าดีกว่าการเติบโตของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐและเวียดนาม (แหล่งนำเข้าอันดับ 1) ที่ขยายตัว 87.5% และ 44.2% ตามลำดับ

ที่ผ่านมา การค้าสหรัฐ-จีนลดลงชัดเจน และนำเข้าสินค้าทดแทนจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้นมูลค่าการนำเข้าสินค้าของสหรัฐ จากจีนหดตัว 16.6% ในปี’62 แม้ต่อมามีการขยายตัวในบางปี แต่การนำเข้ากลับมาหดตัวสูงอีกครั้งที่ 20.3% ในปี’66 และส่วนแบ่งตลาดของจีนในสหรัฐลดลงถึง 7.7% ในช่วงปี’60-66 ทั้งนี้ ในปี’66

จีนเสียตำแหน่งแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของสหรัฐ ที่ยาวนานต่อเนื่อง 14 ปี ให้แก่ เม็กซิโก ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าของจีนจากสหรัฐ หดตัว 20.8% ในปี’62 แม้ต่อมาการนำเข้ามีการขยายตัวในปี’63-64 แต่การนำเข้าจากสหรัฐ กลับมาหดตัว 0.4% และ 6.5% ในปี’65-66 และส่วนแบ่งตลาดของสหรัฐ ในจีน ลดลง 1.9% ในช่วงปี’60-66

ไทยได้อานิสงส์ในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐ และส่งสินค้าทดแทนในสองประเทศในช่วงปี’62-66 มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายเกินดุลกับสหรัฐอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่มูลค่าการส่งออกไปจีนขยายตัวในบางปี ทั้งนี้ หลังการเกิดสงครามการค้า (ปี’60-66) ส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 1.3% เป็น 1.8% โดยสินค้าไทยที่สามารถส่งออกทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ของใช้ในบ้านและสำนักงาน สิ่งพิมพ์ และอุปกรณ์อื่น ๆ และส่วนประกอบของยานยนต์

ขณะที่สินค้าไทยที่สามารถส่งออกทดแทนสินค้าสหรัฐ ในตลาดจีน อาทิ ของใช้ในบ้านและสำนักงาน สิ่งพิมพ์ และอุปกรณ์อื่น ๆ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ

แนะช่วงชิงโอกาส
สนค. แนะแนวทางรับมือและช่วงชิงโอกาสจากสงครามการค้า โดย

(1) ช่วงชิงโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง โดยเร่งขยายการค้าและการส่งออก จากที่สหรัฐ มีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ทดแทนจีน เร่งดึงดูดการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และเร่งดึงดูดคนเก่งที่ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งรวมถึงการดึงดูดคนเก่งที่มีแนวโน้มออกจากจีน

(2) รับมือกับผลกระทบ เชิงลบที่อาจเกิดขึ้น โดยติดตามสถานการณ์แนวโน้มทางการค้าของประเทศคู่ค้าที่อาจส่งผลต่อการค้าไทย ดำเนินมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ในกรณีที่มีสินค้าราคาถูกไหลทะลักเข้ามาในประเทศอย่างเหมาะสม และลดความผันผวนทางการค้าและการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยกระจายตลาดส่งออกและเพิ่มความหลากหลายของแหล่งนำเข้า

(3) ปรับตัวตามทิศทางแนวโน้มโลก โดยการปรับตัวให้สอดรับกับการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการยึดโยงอุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐ และจีน อาทิ ส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสหรัฐ และจีน ตลอดจนประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐ และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานสำคัญกับสหรัฐ และจีน

เช่น อิเล็กทรอนิกส์ (รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์) ยานยนต์สมัยใหม่ และพลังงานสะอาด ปรับโครงสร้างสินค้าด้วยการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูง ปรับกลยุทธ์การส่งออกของไทย ด้วยการเปิดตลาดใหม่ และขยายการส่งออกในตลาดจีน ปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้า และปรับตัวสำหรับระเบียบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะประเด็นด้าน ESG

(4) ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมาย รวมถึงพัฒนาทักษะด้านภาษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ทั้งการผลิต การค้า และการลงทุน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมถึงส่งเสริมการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิต พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในประเทศ ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าส่งออก

และเป็นการปกป้องผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้าที่แข็งแกร่งเพื่อขยายการค้าและการลงทุน และจัดทำและปรับปรุงความตกลงทางการค้าเพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าและการลงทุน รวมถึงเร่งผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งระดับภูมิภาคและ
อนุภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนที่มีแนวโน้มย้ายสู่อาเซียนมากขึ้น

 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ :ประชาชาติธุรกิจ