เปิดแนวทางตอบโต้ทุ่มตลาด-ปรับกระบวนการผลิต ฝ่าวิกฤติอุตสาหกรรม “เหล็กไทย”

หลังจากมีกรณี “กางเกงช้าง” ราคาถูกที่ผลิตจากประเทศจีนเข้ามาแย่งตลาดขายแข่งกับ “กางเกงช้างของแทร่” ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทย ส่งผลให้ผู้ผลิตไทยไม่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจาก “พลังซอฟต์พาวเวอร์” เพราะคนหันไปซื้อกางเกงช้างจากจีนที่ราคาถูกกว่า ขณะที่เม็ดเงินส่วนใหญ่หายออกไปนอกประเทศ

กรณีดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลและภาคประชาชน เริ่มหันมาสนใจประเด็น “สินค้าจีนราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดไทยมากขึ้น” โดยเฉพาะสินค้าที่ขายให้กับรายย่อย แต่ใครจะรู้ว่า ประเด็นการทุ่มตลาดของสินค้าจีนนั้น เป็นเรื่องใหญ่กว่านั้นมาก จนอาจจะทำลายภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย รวมทั้งฉุดการฟื้นตัวของประเทศให้ช้าลงได้ หากไม่รีบแก้ไขให้เร็วที่สุด

เพราะในช่วงที่ผ่านมา “อุตสาหกรรมเหล็ก” ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของชาติ เป็นสินค้าปัจจัยพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจไทยได้กว่าแสนล้านบาทต่อปี ก็กำลังเผชิญความท้าทายใหญ่หลวงจากประเด็นดังกล่าวเช่นเดียวกัน

หลายต่อหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเหล็กไทยต้องเผชิญกับการทุ่มตลาด หรือหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของเหล็กจากจีน รวมทั้งการเข้ามาแย่งผลิตเหล็กในประเทศไทยของโรงงานจีนด้วย ขณะเดียวกัน ก็ยังมีปัญหาซ้ำเติมจากการบริโภคเหล็กที่ลดลง จากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ตรงจุด

ผู้ประกอบการหลายรายกำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติในการประคับประคองธุรกิจ และการจ้างงานจำนวนมากให้อยู่รอดต่อไปได้ และหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เราอาจจะเห็นอุตสาหกรรมที่เปรียบเสมือน “ยักษ์ใหญ่” ล้มได้เช่นกัน และผลเสียอาจจะรุนแรงและกระจายตัวไปในหลายภาคส่วนของประเทศเกินกว่าที่เราคิดไว้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ศึกษาวิจัยผลกระทบของอุตสาหกรรมเหล็ก โดยระบุว่า ทุกการผลิตเหล็กในประเทศที่หายไปทุกๆ 1 แสนตัน จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.19% และอัตราการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กลดลง 1.2% ขณะที่ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและนักวิชาการอิสระ ได้รายงานให้เห็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย กรณีบริโภคสินค้าเหล็กนำเข้าทั้งหมด 100% ส่งผลให้ GDP หดตัว 0.88% การจ้างงานลดลง 260,000 คน เปรียบเทียบกับกรณีบริโภคเหล็กในประเทศทั้ง 100% ช่วยให้ GDP ขยายตัวถึง 1.12% มีการจ้างงานทั้งระบบถึง 330,000 คน

ดังนั้น ในช่วงเศรษฐกิจโลกขยายตัว และเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง “อุตสาหกรรมเหล็ก” ไทยเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการ เหล็ก มีแนวทางมองปัญหา และแก้ปัญหาของตนเองอย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ” ได้พูดคุยกับ “นาวา จันทนสุรคน” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)

เปิดปมปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กไทย

โดยเรื่องแรกที่ “ทีมเศรษฐกิจ” ซักถาม และสนใจอยากรู้ คือ ประเด็นปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กไทยในเวลานี้ ซึ่งนายนาวา สรุปให้ฟังง่ายๆ 3 เรื่องด้วยกัน และเรื่องแรก หนีไม่พ้นปัญหา “สินค้าเหล็กจากต่างประเทศ” โดยเฉพาะจากจีนทุ่มตลาดเข้ามา หรือหลบเลี่ยงการถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty)

นาวา จันทนสุรคน

นาวา จันทนสุรคน

นายนาวา เล่าให้ฟังด้วยว่า หลายปีที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในจีนประสบปัญหา จนความต้องการใช้เหล็กลดลง แต่โรงงาน เหล็กในจีนยังคงผลิตเหล็กในปริมาณสูง ทำให้มีปริมาณเกินความต้องการ และต้องแก้ปัญหาด้วยส่งออกเหล็กราคาถูกจำนวนมากไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก หรือการทุ่มตลาด โดยปี 2566 จีนส่งออกเหล็กรวม 90.3 ล้านตัน คาดว่าปี 2567 น่าจะทุ่มส่งออกเหล็กมากสุดในรอบ 8 ปี ราว 105 ล้านตัน

ส่งผลให้ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และหลายประเทศต่างใช้มาตรการป้องกันเหล็กจากจีนอย่างเข้มงวดรุนแรง ขณะที่ไทย หนึ่งในประเทศเป้าหมายสำคัญที่เหล็กจากจีนเข้ามาทุ่มตลาดนั้น ในปี 2566 จีนส่งออกเหล็กมาไทยมากถึง 4.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 24% จากปี 2565 โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเหล็กชนิดที่ถูกประเทศต่างๆ เก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งถือเป็นการหลบเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีอะลูมิเนียมและแมกนีเซียมแบบจุ่มร้อน ซึ่งหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาดเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอย ซึ่งหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อน

ตามมาด้วยปัญหาที่ 2 คือ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง และอุตสาหกรรมของจีนที่มาได้งานโครงการก่อสร้างต่างๆในไทย ทั้งงานภาคเอกชน และงานภาครัฐที่เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และแม้กระทั่งการก่อสร้างโรงงานของจีนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในไทย มักนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากจีน ซึ่งรวมถึงเหล็กมาใช้ แทนที่จะใช้วัสดุก่อสร้างและเหล็กที่ผลิตในไทย

“ขณะที่ปัญหาสุดท้าย คือ โครงสร้างอุตสาหกรรมผลิตเหล็กในไทยมีปัญหา เพราะที่ผ่านมา มีการส่งเสริมการลงทุนและให้ประกอบกิจการโรงงานผลิตภัณฑ์เหล็กบางประเภท เช่น เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดร้อน มากจนกำลังการผลิตล้น เกินความต้องการใช้ในประเทศ ไม่สอดคล้องต่อการรักษาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ”

เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า แต่ “เหล็ก” ยังไม่ฟื้น

ทั้งนี้ หลังจากที่ปริมาณความต้องการใช้เหล็กทั่วโลกถดถอยลง 2 ปีต่อเนื่องในปี 2565-2566 นายนาวา ระบุว่า สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) คาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กของโลกจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2567 เป็นปริมาณ 1,793 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อน และดีขึ้นต่อเนื่องปี 2568 ปริมาณ 1,810 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.2% จากปีนี้ โดยมีปัจจัยความเสี่ยงจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ หนี้สาธารณะที่มีสัดส่วนสูง ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้เหล็กของโลก

สำหรับจีน ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดของโลก ในปี 2566 มีความต้องการใช้เหล็กถดถอยลง 3.3% จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนยังไม่บรรลุผล ทำให้ความต้องการใช้เหล็กปี 2567 และปี 2568 มีแนวโน้มถดถอยลงอีก 1% ดังนั้น ยังคงมี เหล็กจีนส่งออกไปทั่วโลกในปริมาณมาก โดยเฉพาะอาเซียนและไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก

ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กของ 5 ประเทศอาเซียนคือ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ในปี 2567 รวมกัน 75.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อน และปี 2568 คาดเพิ่มอีก 4.3% เป็น 79.2 ล้านตัน ส่วนความต้องการใช้เหล็กของไทยคิดเป็นสัดส่วน 0.9%-1% ของความต้องการใช้เหล็กของทั้งโลก

จากข้อมูลโดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้า พบว่าไทยเคยมี ความต้องการใช้เหล็กสูงสุด 20.9 ล้านตัน ในปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดี มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนานใหญ่ มีการลงทุนภาคเอกชนที่ดี แต่หลังจากนั้น ความต้องการใช้เหล็กถดถอยตามภาวะเศรษฐกิจ จนเหลือต่ำสุดเพียง 16.3 ล้านตันในปี 2566 หรือลดลง 22% จาก 7 ปีก่อนหน้า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่ำและช้ากว่าที่คาดมาก กำลังซื้อภาคเอกชนไม่ดี เป็นผลให้ความต้องการใช้เหล็กของไทยไตรมาสแรกปี 2567 มีเพียง 3.96 ล้านตัน หดตัวต่อเนื่อง 12.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเหล็กทรงยาวลดลง 13.7% และเหล็กทรงแบนลดลง 12.2%

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เหล็กของไทยเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 2 ปีนี้ คาดหวังว่า ในครึ่งหลังของปีนี้ การเร่งใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐปี 2567 และการเดินหน้าตามนโยบายส่งเสริมการก่อสร้างภาครัฐให้ใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศ จะส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กปีนี้ กระเตื้องมาเป็น 16.7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.5% จากปีก่อน

“แม้ว่าความต้องการเหล็กจะเริ่มเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับการใช้กำลังการผลิตเหล็กโลกเฉลี่ยที่ระดับ 75.6% แล้ว อุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งมีการลงทุนรวมกว่า 400,000 ล้านบาท กลับใช้กำลังการผลิตเพียง 31% ในปี 2566 และลดลงเหลือกว่า 30% ในปีนี้ถือเป็นระดับวิกฤติที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จนหลายโรงงานปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน หากสถานการณ์ยังย่ำแย่เช่นนี้ จะกระทบต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเหล็กไทย และมีความเสี่ยงสูงที่ไทยจะขาดความสามารถพึ่งพาการผลิตเหล็กด้วยตนเอง และกระทบห่วงโซ่อุปทานได้”

ผนึกรัฐ-เอกชนกู้วิกฤติทุ่มตลาด

“ทำให้ช่วงที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเป็น 1 ใน 46 กลุ่ม อุตสาหกรรม ส.อ.ท. ภายใต้การนำของนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ คลัง เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว 7 ข้อ โดยมั่นใจว่าหากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันจริงจัง จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้”

ประกอบด้วยแนวทางที่ 1 การตอบโต้การค้าเหล็กที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งองค์การค้าโลก (WTO) กำหนดหลักเกณฑ์และกติกาให้แต่ละประเทศใช้มาตรการตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรมได้ ซึ่งทั้งประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และประเทศกำลังพัฒนา อย่างอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ ต่างใช้มาตรการทางการค้าภายใต้กฎกติกาดังกล่าวกับเหล็กนำเข้า ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงการทุ่มตลาด (AC) มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (SG) หรือมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) โดยใช้ AD กับเหล็กจากจีนมากสุด 154 มาตรการ และใช้ CVD กับเหล็กจากจีนมากสุด 33 มาตรการ

ขณะที่ไทยใช้เพียงมาตรการ AD เท่านั้นกับเหล็กบางประเภทจากบางประเทศ ที่มีพฤติกรรมทุ่มตลาด โดยไม่มีมาตรการอื่นร่วมด้วย และที่ผ่านมา การบังคับใช้มาตรการ AD ก็มีการยกเว้นในกรณีต่างๆ ทำให้เหล็กสำเร็จรูปทะลักเข้าไทยราว 11 ล้านตันต่อปีมากถึง 69% ของความต้องการใช้เหล็กในไทย โดยประเมินว่า การนำเข้าเหล็กที่หลบเลี่ยงมาตรการ AD ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บอากร AD กว่าหมื่นล้านบาทต่อปี

“แต่ก็มีเคสที่คณะกรรมการพิจารณาการตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งมี รมว.พาณิชย์เป็นประธาน ได้พิจารณาที่จะใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง สำหรับผู้ที่หลบเลี่ยงมาตรการ AD เป็นกรณีแรกแล้ว”

ปรับการผลิตสู่อุตสาหกรรม “ลดโลกร้อน”

ขณะที่แนวทางที่ 2 คือ การใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) อย่างจริงจังและขยายผล ไม่เพียงแค่
ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น แต่ส่งเสริมไปถึงโครงการร่วมลงทุน PPP ด้วย แนวทางที่ 3 การเข้มงวดควบคุมเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนาม ซึ่งในปี 2566-67 มีปริมาณการนำเข้าต่อปี มากกว่าปี 2565 เกือบ 2 เท่าตัว ตลอดจนเร่งรัดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เหล็กประเภทนี้เพื่อคุ้มครองผู้ใช้

แนวทางที่ 4 การใช้มาตรการห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานผลิตเหล็กที่มีกำลังการผลิตล้นเกินความต้องการใช้ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งไทยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 14.5 ล้านตันต่อปี ทั้งที่ปัจจุบันมีการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนเพียง 2-3 ล้านตันต่อปีเท่านั้น รวมทั้ง ต้องควบคุมและตรวจสอบให้มั่นใจว่า โรงงานเหล็กที่ย้ายฐานมาจากจีนดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ได้แก่ ผลิตเหล็กตามมาตรฐาน มอก. รายงานข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานตามที่กฎหมายกำหนด จ้างแรงงานต่างด้าว เพราะปัจจุบันมีบางโรงงานประกอบธุรกิจที่น่าสงสัย หรือเสมือนเป็นโรงงานเหล็กสีเทา เป็นแนวทางที่ 5

ส่วนแนวทางที่ 6 การสงวนเศษเหล็กภายในประเทศสำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กของไทย เพื่อลดภาระและปริมาณนำเข้าเศษเหล็ก เนื่องจากไทยมีเศษเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยมีอัตราเพียงพอต่อการใช้งาน ราว 65% เท่านั้น และต้องพึ่งพิงการนำเข้าเศษเหล็กราว 2 ล้านตันต่อปี โดยเฉพาะเมื่อปัญหาขาดแคลนเศษเหล็กมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการจัดการเศษเหล็กเพื่อนำมาหลอมผลิตเหล็กมากขึ้น ตามกระแสลดการปล่อยคาร์บอน

และแนวทางที่ 7 การปรับตัวตามกระแสลดโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเหล็กสามารถนำกลับมาใช้ (Recycle) ได้ 100% สามารถใช้ซ้ำได้ไม่รู้จบ (Infinitely recycled) ดังนั้น ต้องสนับสนุนการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการผลิต แหล่งพลังงาน หรือใช้เทคโนโลยีอื่นที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ให้ทันต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ

ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้ จะช่วยให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยยังคงอยู่ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในประเทศ และมีความสามารถแข่งขันในการส่งออกด้วย.

แหล่งที่มา.ไทยรัฐ