สเตนเลสคืออะไร

สเตนเลส คือ ชื่อเรียกของเหล็กกลุ่มที่มีความต้านทานการกัดกร่อน (เหล็กกล้าไร้สนิม) โดยมีโครเมี่ยมผสมอยู่อย่างน้อย 10.5% ซึ่งจะทำหน้าที่สร้างฟิลม์บางๆ ขึ้นเพื่อทานการกัดกร่อน และจะสร้างฟิลม์ขึ้นใหม่ได้เอง หากผิวฟิล์มถูกขีดข่วน ทำลาย นอกจากนี้ยังมีการเติมธาตุผสมอื่นๆ เช่น นิกเกิล โมลิบดินัม ไททาเนียม เพื่อเพิ่มความต้านทานการกัดกร่อน หรือปรับคุณสมบัติทางกลที่ต้องการ ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติพิเศษของสเตนเลสดังนี้

1. ทนทานต่อการกัดกร่อน
สเตนเลสทุกตระกูลทนทานต่อการกัดกร่อน แต่จะแตกต่างกันไปตามส่วนผสมของโลหะ เช่น เกรดที่มีโลหะผสมไม่สูงสามารถต้านทานการกัดกร่อนในบรรยากาศทั่วไป ในขณะที่เกรดที่มีโลหะผสมสูงจะสามารถต้านทานการกัดกร่อนในกรด ด่าง สารละลาย บรรยากาศคลอไรด์ได้เกือบทั้งหมด

2. ความต้านทานต่ออุณหภูมิสูงและอุณหภูมิต่ำ
สเตนเลสบางเกรดสามารถทนความร้อนและความเย็น รวมถึงการเปลี่ยนอุณหภูมิโดยฉับพลันได้ดี และด้วยคุณสมบัติพิเศษในการทนไฟ ทำให้มีการนำสเตนเลสไปใช้ในอุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างแพร่หลาย

3. ง่ายต่อการประกอบ หรือแปรรูป
สเตนเลส่วนใหญ่สามารถตัด เชื่อม ตกแต่งทางกล ลากขึ้นรูป ขึ้นรูปนูนต่ำได้ง่าย ด้วยรูปร่าง คุณสมบัติ และลักษณะต่างๆ ของสเตนเลสช่วยให้ผู้ผลิตสามารถนำสเตนเลสไปประกอบกับวัสดุอื่นๆ ได้ง่าย

4. ความทนทาน
คุณสมบัติเด่นอีกประการหนึ่งของสเตนเลสคือความแข็งแกร่งทนทาน สเตนเลสสามารถเพิ่มความแข็งได้ด้วยการขึ้นรูปเย็น ซึ่งใช้เพื่อออกแบบงาน โดยลดความหนา น้ำหนักและราคา สเตนเลสบางเกรดอาจใช้งานในที่ทนความร้อนและยังคงความทนทานสูง

5. ความสวยงาม
ด้วยรูปทรงและพื้นผิวที่หลากหลายรูปแบบที่สวยงาม ทำความสะอาดได้ง่าย ปัจจุบันสเตนเลสมีสีให้เลือกมากมายด้วยกรรมวิธีชุบเคลือบผิวเคมีไฟฟ้า สามารถทำให้สเตนเลสมีผิวสีทอง บรอนซ์ เขียว เงิน และสีดำ ทำให้สามารถเลือกประยุกต์ใช้สเตนเลสได้อย่างมากมาย นอกจากนี้ความเงางามของสเตนเลสในอ่างล้างจานอุปกรณ์ประกอบอาหารหรือเฟอร์นิเจอร์ทำให้บ้านดูสะอาดและน่าอยู่อีกด้วย

6. ความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ
การทำความสะอาด การดูแลรักษา สเตนเลสจะมีความเป็นกลางสูงจึงไม่ดูดซึมรสใดๆ เป็นเหตุผลสำคัญที่สเตนเลสถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาล เครื่องครัว ด้านโภชนาการและด้านเภสัชกรรม เนื่องจากความทนทาน ต้องการการดูแลรักษาน้อย และค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาการใช้งาน การใช้อุปกรณ์เครื่องครัวสเตนเลสในบ้านเรือนให้ความรู้สึกถึงความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ และนอกจากนี้สเตนเลสยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ธาตุผสมหลักในสเตนเลส

                คนทั่วไปมักสับสนหรือเข้าใจเหมารวมว่าสเตนเลสก็คือเหล็ก  แต่ในความเป็นจริงสเตนเลสมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากเหล็กมากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากธาตุโลหะที่ผสมอยู่ในสเตนเลส ทั้งนี้เพราะเหล็กกล้าทุกชนิด คือ โลหะผสมระหว่างเหล็กและคาร์บอน ส่วนเหล็กกล้าพิเศษ (รวมถึงสเตนเลส) คือโลหะผสมระหว่างเหล็กและธาตุอื่นๆ เช่น เพิ่มคาร์บอน นิกเกิล แมงกานีส  โมลิบดิบนัม เป็นต้น ส่วนสเตนเลสคือโลหะผสมระหว่างเหล็กที่มีโครเมียมเป็นส่วนผสมหลํก และมีคาร์บอนผสมอยู่ต่ำและเติมธาตุอื่นๆเพื่อจะปรับปรุงให้คุณสมบัติด้านใดสูงขึ้น เช่น เพิ่มความต้านทานการกัดกร่อน เพิ่มคุณสมบัติเชิงกล คุณสมบัติทางกายภาพ และคุณสมบัติในด้านการสร้าง การขึ้นรูปหรือการประกอบ เรามาลองทำความเข้าใจคร่าวๆเกี่ยวกับส่วนผสมพื้นฐานของสเตนเลสดูว่าแตกต่างจากเหล็กธรรมดาอย่างไร 

ธาตุผสมซึ่งปรากฏอยู่ในเหล็กกล้าสเตนเลส มีดังนี้

  • โครเมียม (Chromium : Cr) – ช่วยให้มีความต้านทานการกัดกร่อนพื้นฐาน
  • นิกเกิล (Nickel : Ni) – ช่วยให้มีความแข็งแรง
  • โมลิบดินัม (Molybdenum : Mo) – ช่วยให้มีความแข็งแรง สามารถใช้งานในที่ที่มีอุณหภูมิสูงมาก และเพิ่มความต้านทานในการกัดกร่อน
  • แมงกานีส (Manganese : Mn) – ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการแตกจากความร้อนขณะเชื่อม
  • คาร์บอน (Cabon : C) – ตัวก่อรูปคาร์ไบด์ ตัวทำความแข็งแรง
  • ไนโตรเจน (Nitrogen : N) – ช่วยเพิ่มความแข็งแรง ลดความเหนียว
  • ไททาเนียม (Titanium : Ti) – ช่วยเพิ่มความสามารถขณะเชื่อมและยังเพิ่มความต้านทานการกัดกร่อนตามขอบเกรนของพื้นผิวบริเวณที่ได้รับการเชื่อม
  • โคลัมเบียม (Columbium : Cb) – ช่วยปรับปรุงความสามารถตกแต่งทางกล เป็นสาเหตุการแตกร้าวในรอยเชื่อม